SHORT CUT
แพทย์ เผย คนไทยป่วยเป็น ‘โรคหัวใจ’ สูงขึ้นเนื่องจากปัญหา PM 2.5 รวมถึงไลฟ์สไตล์การกิน กินหวาน กินเค็ม โรคเบาหวาน โรคอ้วน สูบบุหรี่เสี่ยงสุด
โรคหัวใจ คือ อีกหนึ่งโรคที่คร่าชีวิตคนไทยไปแล้วจำนวนไม่น้อย โดยโรคหัวใจเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย โดยข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานสถิติแห่งชาติ โรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย รองจากมะเร็ง สอดคล้องกับข้อมูลจากกรมควบคุมโรค คาดว่าในปี 2568 ตัวเลขผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคหัวใจจะ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุหลักมากจาก พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น รับประทานอาหารไขมันสูง เค็มจัด หวานจัด ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และน้ำอัดลมมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากการขาดการออกกำลังกาย ภาวะอ้วนและเบาหวานที่เพิ่มขึ้น หรือผู้คนมีความเครียดและสุขภาพจิตจากเศรษฐกิจ การงาน และสังคมมีผลกระทบต่อสุขภาพหัวใจ อีกทั้งโครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีความเสี่ยงโรคหัวใจโดยธรรมชาติ แต่.. มีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจจาก นพ. เกรียงไกร เฮงรัศมี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เปิดเผยว่า แนวโน้มผู้ป่วยโรคหัวใจยังคงมีจำนวนมาก จากปัจจัยหลัก เรื่องไลฟ์สไตล์คน รวมถึงโรคเบาหวาน การกินอาหารเค็ม ขนมหวาน โรคอ้วนลงพุง การสูบบุหรี่ มีโอกาสทำให้เป็นโรคหัวใจ
ที่น่าตกใจอีกประการหนึ่ง คือ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทำให้เกิดความเสี่ยงโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 3 เท่า และทำให้หลอดเลือดอักเสบ มีงานวิจัยจากเชียงใหม่ติดตามผู้ป่วย 30,000 กว่าคน พบว่า PM2.5 ทำให้เป็นมะเร็งปอดและโรคหัวใจเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยอายุของผู้ป่วยโดยเฉลี่ยประมาณ 60-65 ปี (ผู้สูงวัย) สำหรับการตรวจพบโรค 50% ของผู้ป่วยจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการรุนแรงส่วนอีก 50% มีเวลาให้รักษาได้
จากแนวโน้มของโรคหัวใจที่มีโอกาสมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นจึงทำให้ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ โรงพยาบาลหัวใจเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย ผู้นำด้านการรักษาโรคหัวใจมากว่า 20 ปี เดินหน้าอัดงบลงทุนเสริมจุดแข็ง มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผ่าตัดหัวใจแผลเล็ก (Minimally Invasive Cardiac Surgery – MICS) แห่งภูมิภาคอาเซียน เปิดตัว 2 นวัตกรรมและเทคโนโลยี การผ่าตัดหัวใจ MICS CABG หรือการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจผ่านแผลขนาดเล็กโดยไม่ต้องผ่าเปิดช่องอก และ Totally 3D Endoscopic Valve Surgery หรือการผ่าตัดซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจแผลเล็กผ่านกล้อง 3 มิติ รองรับทั้งกลุ่มผู้ป่วยคนไทย และกลุ่ม Medical Tourism ที่ต้องการลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดใหญ่ มองหานวัตกรรมการรักษาที่ให้ความแม่นยำและปลอดภัยสูง เจ็บแผลน้อย พักรักษาตัวสั้น ฟื้นตัวเร็ว คุณภาพการรักษาระดับพรีเมียมพร้อมการดูแลแบบองค์รวม
ทั้งนี้จะมีการใช้เทคโนโลยีการรักษาโรคหัวใจอย่าง MICS CABG และการผ่าตัดลิ้นหัวใจแผลเล็กผ่านกล้อง 3 มิติ คือการต่อยอดจุดแข็งของโรงพยาบาลฯ และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ให้ประเทศไทยในฐานะ Medical Hub ที่เป็นทั้งจุดหมายในการมารับการรักษาโรคหัวใจที่ซับซ้อนและเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีการแพทย์และบุคลากรคุณภาพระดับสากล
ด้วยศักยภาพทางการแพทย์เฉพาะทางผนวกกับการลงทุนทั้งในบุคลากรสหสาขา และเทคโนโลยีการผ่าตัด โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพยังมุ่งต่อยอดสู่โอกาสทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรม Medical Tourism สอดรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบาย Medical Hub ของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ด้วยการวางตำแหน่งโรงพยาบาลเป็น Medical Center of Excellence สำหรับศัลยกรรมหัวใจในระดับภูมิภาค และระดับเอเชีย รองรับผู้ป่วยต่างชาติจากอาเซียน ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออก พร้อมตั้งเป้าขยายบริการในอนาคตไปยังโรงพยาบาลในเครือ BDMS ที่มีศักยภาพรองรับ MICS ได้
ก้าวสู่ยุคใหม่ของการผ่าตัดหัวใจแผลเล็ก ด้วย MICS CABG (Minimally Invasive Coronary Artery Bypass Grafting) คือเทคนิคการทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ต้องเปิดกระดูกหน้าอก มีแผลขนาดเล็กเพียง 7-10 ซม. บริเวณซี่โครงด้านซ้ายและ ไม่ต้องใช้เครื่องหัวใจ-ปอดเทียม (off-pump) จึงลดความเสี่ยงจากการเสียเลือดและอาการแทรกซ้อน เหมาะที่สุดสำหรับผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดหัวใจด้านซ้ายตีบหรืออุดตันโดยที่หลอดเลือดหัวใจด้านขวาปกติ
"เทคนิค MICS CABG ไม่ได้แทนที่การผ่าตัดแบบเดิมทั้งหมด แต่เป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ที่สามารถรับการผ่าตัดด้วยเทคนิคแผลเล็กได้ เพื่อลดความเจ็บ เสี่ยงติดเชื้อน้อยลง และกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้น" นพ. ณัฐพล อารยวุฒิกุล ศัลยแพทย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ อธิบาย
ในขณะที่เทคนิค Totally 3D Endoscopic Valve Surgery พัฒนาโดยทีมแพทย์ของโรงพยาบาล นำโดย นพ.ภราดร เจ็ดวรรณะ เป็นการผ่าตัดซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจไมตรัลหรือเอออร์ติก โดยใช้กล้อง 3 มิติเสมือนจริงที่ให้ภาพคมชัดในพื้นที่แคบ ผ่านแผลเล็กขนาด 4-5 ซม. ช่วยให้การผ่าตัดมีความแม่นยำสูงโดยไม่ต้องผ่าเปิดกระดูกหน้าอก ลดการสูญเสียเลือด ลดการติดเชื้อ และลดระยะเวลาในการพักฟื้นใน ICU อย่างมีนัยสำคัญ
ด้าน นพ. ภราดร เจ็ดวรรณะ ศัลยแพทย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า "กล้อง 3 มิติเสมือนจริงช่วยให้เราผ่าตัดในพื้นที่จำกัดได้อย่างแม่นยำ โดยไม่กระทบโครงสร้างหลักของร่างกาย ผู้ป่วยจะฟื้นตัวไว และให้ผลลัพธ์ที่เทียบเท่าการผ่าตัดแบบเปิดอก
ปัจจุบันโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพมีทีมแพทย์เฉพาะทางที่ผ่านการฝึกอบรมจากต่างประเทศ พร้อมห้องผ่าตัดที่ติดตั้งเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับการผ่าตัดหัวใจแผลเล็กโดยเฉพาะ โดยเปิดให้บริการแก่ทั้งผู้ป่วยชาวไทย ชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศ (Expat) และกลุ่ม Medical Tourism จากต่างประเทศ เพื่อให้ทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงนวัตกรรมการรักษาที่แม่นยำ ปลอดภัย และได้มาตรฐานระดับสากล สำหรับการลงทุนครั้งนี้สะท้อนแผนยุทธศาสตร์ Our 20-Year Heart Journey 2025 ของโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพในการมุ่งสู่ผู้นำด้านการรักษาโรคหัวใจแผลเล็กของภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย
อย่างไรก็ตามในปี2567 ที่ผ่านมาผลประกอบการโดยรวมของในเครือโรงพยาบาลกรุง รายได้รวม มากกว่า 16,000 ล้านบาท เติบโต 7% จากปีก่อนหน้า ส่วนในไตรมาส 1 ปี 2025 รายได้รวม มากกว่า 4,000 ล้านบาท เติบโต 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2024
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
PM 2.5 ล้อม กทม.ไว้หมดแล้ว หากไม่ป้องกันอาจเป็นโรคหัวใจกับมะเร็งได้
โลกร้อนอาจมีส่วนทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในจีนเพิ่มขึ้น
อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ เผยการหงอยหลับกลางวัน เป็นอาการของ โรคหยุดหายใจ